Online Public Relations Marketing

การประชาสัมพันธ์เพื่อการตลาด

 

การประชาสัมพันธ์ (Public Relations) ในยุคปัจจุบันที่กลุยุทธ์การส่งเสริม (Promotion Strategy) แบบดั้งเดิมถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นกลุยุทธ์การสื่อสารการตลาด (Marketing Communication Strategy) ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทการประชาสัมพันธ์แบบดั้งเดิมมาเป็นการประชาชัมพันธ์เพื่อการตลาด (Marketing Public Relations หรือ MPR) เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางการตลาด

 

การประชาสัมพันธ์เพื่อการตลาด หรือ Marketing Public Relations – MPR เป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนการตลาด (PR Support Marketing) ซึ่งเป็นพัฒนาการส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ และเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เพราะเป็นยุคการสื่อสารไร้พรมแดน และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักประชาสัมพันธ์และนักการตลาดต้องศึกษา พัฒนา และปรับกลยุทธ์ทั้งการตลาดและการประชาสัมพันธ์ให้ทันกันการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินงานของโรงแรมนั้นนั้นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายการตลาด

ความหมายของการประชาสัมพันธ์เพื่อการตลาด

การประชาสัมพันธ์เพื่อการตลาด หมายถึง กระบวนการในการวางแผน (process of planning) การปฏิบัติการให้สำเร็จตามแผนการที่ได้วางไว้ ตลอดจนประเมินผลหรือติดตามผลความสำเร็จของโครงการ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้บรโภคกลุ่มเป้าหมายเกิดการซื้อ (encourage purchase) และสามารถตอบสนองต่อความจำเป็น ความต้องการ ความเกี่ยวพัน และผลประโยชน์ของผู้บริโภคได้อย่างถูกต้องและตรงเวลา จนนำไปสู่ความพึงพอใจของผู้บริโภค ผ่านทางช่องทางการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ (credible communication of information) และเกิดความประทับใจ โดยระบุถึงบริษัท กลุ่มบุคคลและผลิตภัณฑ์ของบริษัท (วิรัช ลภิรัตนกุล, 2544)
วัตถุประสงค์ของ MPR

การประชาสัมพันธ์เพื่อการตลาด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายวัตถุประสงค์ และหลากหลายสถานการณ์ ทั้งทางด้านตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ซึ่งจะแตกต่างจากการประชาสัมพันธ์โดยทั่วไปมีมุ่งเน้นวัตถุประสงค์ทางด้านที่ไม่ใช่ตัวเงินเป็นหลัก วัตถุประสงค์ (Objectives) ของการทำการประชาสัมพันธ์ทางการตลาดที่จะเป็นแนวทางสำหรับการนำองค์กรธุรกิจไปสู่ความสำเร็จได้นั้น จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน แน่นอนและวัดผลได้ ซึ่งวัตถุประสงค์เหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามลักษณะเป้าหมาย พันธกิจ วิสัยทัศน์และกลยุทธ์โดยภาพรวมของธุรกิจ โดยผู้ประกอบการสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ในการประชาสัมพันธ์ทางการตลาดได้ วิรัช ลภิรัตนกุล (2544) ได้กล่าวถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อการตลาดว่า สามารถนำไปใช้ในหลาย ๆ วัตถุประสงค์ ดังต่อนี้

  1. เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายตื่นตัวและรบรู้ (Raise awareness)
  2. เพื่อบอกกล่าวและให้ความรู้ (Inform and Educate)
  3. เพื่อให้ได้มาซึ่งความเข้าใจอันดี (Gain understanding)
  4. เพื่อสร้างความเชื่อถือไว้ว้างใจ (Build trust)
  5. เพื่อสร้างความเป็นมิตรไมตรี (Make friend)
  6. เพื่อให้เหตุผลประชาชนสำหรับการซื้อ (Give people reasons to buy)
  7. เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการยอมรับของผู้บริโภค (Create a climate of consumer acceptance)

เครื่องมือในการประชาสัมพันธ์การตลาด
ในการนำเอาการประชาสัมพันธ์เพื่อการตลาดมาประยุกต์ใช้งานนั้น ฟิลิป คอตเลอร์ (Philip Kotler, 1999) ปรมาจารย์ชื่อดังด้านการตลาด ได้เสนอแนะชุดเครื่องมือสำหรับการประชาสัมพันธ์การตลาดที่เรียกว่า “P E N C I L S” ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

  • P = Publication หมายถึง การประกาศ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น นิตยสาร รายงานประจำปี เอกสารแผ่นพับสำหรับแจกลูกค้า เป็นค้น
  • E = Events หมายถึง การจัดเหตุการณ์หรือกิจกรรมพิเศษ เช่น การเป็นผู้อุปถัมภ์รายการกีฬา หรืองานแสดงศิลปะ งานแสดงการค้า เป็นต้น
  • N = News หมายถึง การนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชน เช่น การส่งข่าวเกี่ยวกับบริษัท ผลิตภัณฑ์ หรือพนักงาน
  • C = Community Involvement Activities หมายถึงการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับชุมชน
  • I = Identity Media หมายถึง การใช้สื่อเฉพาะที่สามารถสะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์ขององค์กร เช่น เครื่องเขียน นามบัตร หัวจดหมาย การแต่งกาย เป็นต้น
  • L = Lobbying Activity หมายถึงกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นความพยายามใช้การโน้มน้าวใจเพื่อจูงใจให้มีการออกกฎหมายและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการยับยั้งกฎหมายและกฎระเบียบที่ขัดต่อการดำเนินธุรกิจหรือผลประโยชน์ของธุรกิจ
  • S = Social Responsibility หมายถึง กิจกรรมที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับองค์กร

ประเภทของการประชาสัมพันธ์เพื่อการตลาด (Marketing Public Relations: MPR)
การประชาสัมพันธ์เพื่อการตลาด สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ

  1. การประชาสัมพันธ์เพื่อการตลาดเชิงรุก (Proactive Marketing Public Relations: PMPR) เป็นการมุ่งสร้างโอกาสทางการตลาด ด้วยการมุ่งเน้นให้องค์กรธุรกิจมีภาพลักษณ์ที่ดีได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากผู้บริโภคและหรือประชาชนทั่วไปมากกว่ามุ่งแก้ไขปัญหาหรือตอบข้อสงสัยและข้อร้องเรียนที่จะเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะการแข่งขันทางการตลาดที่มีความรุนแรงอยู่ในขณะนี้ การมุ่งเป้าหมายทางการตลาดด้วยการทำประชาสัมพันธ์ทางการตลาดเชิงรุกมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นการช่วยตอกย้ำให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ และเกิดความสนใจในการประชาสัมพันธ์ จะนำไปสู่การตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ในที่สุด ในปัจจุบันโรงแรมส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์การตลาดประเภทนี้
  2. การประชาสัมพันธ์เพื่อการตลาดเชิงรับ (Reactive Marketing Public Relations: RMPR ) เป็นการมุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ บุคลากรหรือชื่อเสียงของบริษัท โดยอาศัยการให้ข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการทำความเข้าใจ แก้ไขปัญหาและควบคุมการเกิดข่าวลือให้หมดไปหรือจำกัดอยู่ในวงแคบ ตลอดจนให้องค์กรสามารถจัดการกับภาวะวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โรงแรมจำนวนมากละเลยหรือบกพร่องในการประชาสัมพันธ์การตลาดเชิงรับ ขาดแผนการปฏิบัติงานที่แน่นอน ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถใช้การประชาสัมพันธ์ในยามวิกฤติ หรือภาวะฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การประชาสัมพันธ์การตลาด (MPR) เป็นเพียง “หน้าที่พิเศษ” (Specialty Function) ของการประชาสัมพันธ์ที่นำมาสนับสนุนการตลาดเท่านั้น มิใช่ครอบคลุมการประชาสัมพันธ์ทั้งหมด ดังนั้น ในอีกนัยหนึ่งการประชาสัมพันธ์การตลาดจึงเป็นเครื่องมือและเทคนิค (Tools & Techniques) ส่วนหนึ่งของการดำเนินการประชาสัมพันธ์ขององค์กร

http://www.ihotelmarketer.com/index.php?option=com_k2&view=item&id=419:marketing-public-relations&Itemid=678

 

Leave a comment